วันนี้ (12 พ.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกล่าวถึง ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้ามายังประเทศไทยผิดกฎหมายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน มีความต้องการแรงงานมาก ดังนั้น มีการพิจารณาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มาทำงานในประเทศตาม MOU โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้มาพูดคุย นำเสนอ ทั้งหมด 8 ขั้นตอน เพื่อนำแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
8 ขั้นตอนนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU ช่วงโควิด 19
แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ
เอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม (ตามคำสั่ง ศบค.ที่ 8/2564 (ฉบับที่ 12) มาตรการป้องกันโรค ข้อ 8.2)
-หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว
-หลักฐานยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว
-หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ทางราชการกำหนด
ขั้นตอนที่ 2 การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว
กรมการจัดหางานมีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง
ขั้นตอนที่ 3 การดำเนินการของประเทศต้นทาง (เมียนมา ลาว กัมพูชา)
ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และทำ Name List ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย กรมการจัดกางานจัดส่ง Name List ให้กับนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าแรงงาน
ขั้นตอนที่ 4 การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม
-หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (ถ้ามี)
-หลักฐานการซื้อประกันสุขภาพบริษัทประกันภัย 4 เดือน
-นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคม
ขั้นตอนที่ 5 การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
กรมการจัดหางานมีหนังสือถึง
-สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง (กัมพูชา ลาว) เพื่อตรวจลงตราวีซ่า และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
-สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจลงตราวีซ่า
ขั้นตอนที่ 6 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมแสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้
1.หนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงานพร้อมบัญชีรายชื่อ
2.ผลตรวจ Covid-19 (วิธี RT-PCR) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา หรือ ผลรับรองการตรวจ ATK
3.หลักฐานการได้รับวัคซีน Covid-19 (ถ้ามี)
4.ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 2 ปี
5.เดินทางไปยังสถานที่กักตัวโดยยานพาหนะที่แจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใด ๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)
ขั้นตอนที่ 7 การกักตัว
1.คนต่างด้าวตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและโรคต้องห้าม
2.คนต่างด้าวเข้ารับการกักตัวและตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ดังนี้
2.1 กรณีฉีดวัคซีนครบโดส เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ขณะอยู่ในสถานกักตัวตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง (โดยวิธี RT-PCR)
ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลาที่ถูกกักตัว
2.2 กรณีฉีดวัคซีนยังไม่ครบตามเกณฑ์หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ขณะอยู่ในสถานที่กักตัว ตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง (โดยวิธี RT-PCR)
ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-13 ของระยะเวลาที่ถูกกักตัว
-กรณีตรวจโรคโควิด – 19 ไม่ผ่าน (พบเชื้อ) เข้ารับการรักษาโรค โดยค่าใช้จ่ายนายจ้างหรือกรมธรรม์รับผิดชอบ
เมื่อผ่านการตรวจโรคโควิด-19 (ไม่พบเชื้อ) หรือ รักษาหาย ไปขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 8 การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน
เมื่อคนต่างด้าวกักตัวครบตามกำหนด นายจ้างรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่ทำงาน
-อบรมผ่าน Video Conference ณ สถานที่ทำงาน
-แจ้งเข้าทำงานและรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
ค่าใช้จ่ายนำแรงงานต่างด้าว MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
ประกอบด้วย
1. ค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง ครั้งละ 1,300 รวม 2,600 บาท
2. ตรวจลงตราวีซ่า 2 ปี 2,000 บาท (เพิ่มขึ้นมา 1,500 บาท จากเดิมที่2ปี 500 บาท)
3. ใบอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,900 บาท
4. ตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท
5. ค่าประกันสุภาพรวมโรคโควิด-19 (บริษัทประกันภัยเอกชน 4 เดือน) 990 บาท
6. ค่าบริการทางการแพทย์ (ฉีดวัคซีน) 50 บาท
7. ค่าสถานที่กักตัว (วันละ 500 – 1,000 บาท) กักตัว 7 วัน 3,500 – 7,000 บาท และกักตัว 14 วัน 7,000 – 14,000 บาท
รวมแล้วประมาณ 11,490 – 22,040 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน
หมายเหตุ: ยังไม่รวมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านเอกสาร และค่าบริการ กรณีที่นายจ้างไม่สะดวกดำเนินการเอง